ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1

               เนื่องจากการดำเนินคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้พนักงานอัยการมีเพียงอำนาจในการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางประเภทเท่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ซึ่งได้แก่ ฐานลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัดกรรโชค ฉ้อโกง ยักยอกหรือรับของโจร ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยต้องไปดำเนินคดีส่วนแพ่ง เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนอื่นด้วยตนเองและต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเป็นภาระยิ่งขึ้นให้แก่ผู้เสียหาย ดังนั้น สมควรให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้ เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว ในปี พ.ศ.2548 จึงได้มีการเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 24) พ.ศ.2548 โดยเพิ่มมาตรา 44/1 ซึ่งบัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิตร่างกายจิตใจหรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่สินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว “ผู้เสียหาย”‘ ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 นี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยตามกันมาโดยตลอดว่า ต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยด้วย เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 5419/2554, คำพิพากษาฎีกาที่49284/2555, คำพิพากษาฎีกาที่ 1758/2555, คำพิพากษาฎีกาที่ 10908/2556, คำพิพากษาฎีกาที่6300/2558 ฯลฯ 

              แต่อย่างใดก็ตามหลักกฎหมายในคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยในปีพ.ศ.2560 ที่ผ่านมา มีคำพิพากษาศาลฎีกาของที่ประชุมใหญ่ ที่ 5400/2560 กับหลักคำพิพากษาที่วินิจฉัยเดินตามกันมาตลอดที่ตัดสินว่าผู้เสียหายที่จะยื่นคำร้องตามมาตรา 4/1 ต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โดยคำพิพากษาดังกล่าวยังไม่มีการตีพิมพ์เผยแพแต่อย่างใด ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาของที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวข้างต้น วินิจฉัยว่า “เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายยื่นคำร้องเข้ามาในคดีอาญาดังที่ปรากฎในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2548 ความว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการดำเนินคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้พนักงานอัยการมีเพียงอำนาจในการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางประเภทเท่านั้นผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลย ต้องไปดำเนินคดีส่วนแพ่ง เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนอื่นด้วยตนเองและต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเป็นภาระยิ่งขึ้นให้แก่ผู้เสียหาย ดังนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้ เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินคดีดังกล่าว เพื่อลดภาระให้แก่ผู้เสียหาย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้ แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6” แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่าหมายถึง ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า “ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีดำริบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้เว้นแต่ข้อความในตัวบกะขัดกับคำอธิบายนั้น” ดังนั้นการพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่นเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 5 (2) มาใช้บังคับ แม้ไม่ใช่ผู้เสียหายในทางนิตินัยในคดีอาญาก็ตาม แต่ก็เป็นผู้เสียหายในทางแพ่ง จึงสามารถยื่นคำร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งมาในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ได้ ส่วนการกำหนดค่าสินไหมทดแทน ให้พิจารณาว่าฝ่ายผู้เสียหายมีส่วนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมากน้อยเพียงใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223

               ดังนั้นต่อจากนี้ไป การยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ก็ไม่จำต้องพิจารณาว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ หากแต่ได้รับความเสียหายในทางแพ่ง ก็สามารถยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนได้ตามคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น

เครดิต : พสิษฐ์ อันทรินทร์   ผศ.ดร.มณทิชา ภักดีค

             วารสารรามคำแหง ฉบับนิติศาสตร์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 1