สิทธิในการป้องกันตัว

การกระทำเพื่อป้องกันเพราะสำคัญผิด

               การกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุยกเว้น หากแต่การกระทำเพื่อป้องกันจะต้องครบหลักเกณฑ์ คือ 1. มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย 2.ภยันตรายนั้นต้องเป็นภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดกฎหมายอาญาหรือกฎหมายแพ่ง และไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำโดยเจตนาหรือโดยประมาท ถ้าภยันตรายนั้นไม่ได้ละเมิดต่อกฎหมายก็จะอ้างกระทำเพื่อป้องกันไม่ได้ 3. ภยันตรายนั้นก็ต้องใกล้จะถึง หมายถึง ภยันตรายกำลังจะเกิดขึ้นหรือได้เกิดขึ้นแล้วและภัยยังคงอยู่ ส่วนการกระทำเพื่อป้องกันล่วงหน้าก็ให้กระทำได้ ถ้าเห็นได้ว่าหากไม่กระทำเพื่อป้องกันล่วงหน้าต่อมาภยันตรายก็จะเกิดขึ้น หรือแม้ไม่ได้กระทำล่วงหน้าแต่ขณะเกิดเหตุผู้กระทำก็จะต้องกระทำเช่นนั้นเพื่อป้องกันอยู่ดี 4. การป้องกันซึ่งจะไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68 ก็ต้องกระทำไปพอสมควรแก่เหตุ โดยพิจารณาจากหลักวิถีทางน้อยที่สุดหรือหลักการได้สัดส่วนถ้าการป้องกันเกินกว่าเหตุก็ยังมีความผิดเพียงแต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 69

                การกระทำเพื่อป้องกันกฎหมายยอมให้บุคคลกระทำเพื่อป้องกันตนเองหรือป้องกันบุคคลอื่นก็ได้ แต่ตนเองก็ดีหรือบุคคลอื่นก็ดีจะต้องมีสิทธิที่จะป้องกันด้วย

               ส่วนกระทำเพื่อป้องกันเพราะสำคัญผิด หมายถึง ความเป็นจริงไม่มีภยันตรายซึ่งเกิดจกการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย อันจะเป็นเหตุให้ต้องกระทำเพื่อป้องกัน   แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่าจะมีภยันตรายดังกล่าวเกิดขึ้นจึงได้กระทำด้วยเจตนาเพื่อป้องกันตามมาตรา 62 วรรคแรก กฎหมายให้ผู้กระทำไม่มีความผิด โดยถือเอาตามข้อเท็จจริงที่ผู้กระทำสำคัญผิด ซึ่งเป็นผลดีหรือเป็นคุณกับผู้กระทำ อย่างไรก็ตาม ถ้าความสำคัญผิดตามมาตรา 62 วรรคแรกเกิดจากความประมาทของผู้กระทำมาตร 62 วรรคสอง ก็ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท

วารสารรามคำแหง : ฉบับนิติศาสตร์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2

                                 รองศาสตราจารย์เรืองยศ แสนภักดี