กู้ยืมผ่าน social media
ฟ้องร้องกันได้หรือไม่ ?
ด้วยปัจจุบันด้วยสภาพสังคมและเทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกล ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปโดยสะดวก ผู้คนจึงสามารถติดต่อสื่อหารหากันได้ง่ายโดยใช้เพียงแค่ปลายนิ้ว ซึ่งแน่นอนเมื่อมีการติดต่อสื่อสารกันง่าย การทำธุรกรรมต่างๆก็ย่อมง่ายและสะดวกขึ้นตามไปด้วย อย่างธุรกรรมเช่นการยืมเงิน เพียงผู้ยืมส่งข้อความขอยืมหากเป็นคนรู้จักมักคุ้นกันก็มักจะทำการโอนผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคารโดยทันที กรณีดังกล่าวมักไม่ค่อยเกิดปัญหาหากเป็นการกู้ยืมเงินกันเพัยงหลักร้อย หรือเป็นจำนวนไม่มาก แต่หากเป็นกรณีที่มีการกู้ยืมกันมากกว่า 2,000 บาทขึ้นไป ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องกันได้นั้น หากผู้ยืมไม่ยอมชำระคืน กรณีอย่างนี้จะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ?
หากจะนำข้อกฎหมายมาปรับใช้กับกรณีดังกล่าว จะต้องนำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ.2544 มาตร 7,8 และ 9 มาปรับใช้ ซึ่งการส่งข้อความผ่านทางแอปพลิเคชั่น และโอนเงินให้กู้ยืมกันนั้น ถือเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่มีการลงลายมือชื่อของผู้ยืมแล้ว จึงสามารถดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย
ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560
“จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึงมาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง”