ความเหมือนและความแต่งต่างของการ "ผิดนัด" กับการ "ผิดสัญญา"

                การผิดนัด หมายถึง การที่ลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามที่มีกำหนดเวลาไว้ตามวันแห่งปฏิทิน หรืออาจเป็นการผิดนัดเมื่อเจ้าหนี้ได้เตือนลูกหนี้แล้วก็ได้ ส่วนการผิดสัญญา หมายถึง การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาในทุกกรณีการผิดสัญญาจึงอาจทำให้ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีหรือยังไม่ทำให้ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดจนกว่าเจ้าหนี้ได้เตือนลูกหนี้ก่อนก็ได้ การผิดนัดจึงมีความหมายแคบกว่าการผิดสัญญา การผิดนัดทุกครั้งเป็นการผิดสัญญาเสมอ แต่การผิดสัญญาอาจไม่เป็นการผิดนัดอย่างไรก็ตามทั้งผิดนัดและผิดสัญญา ก็คือการไม่ชำระหนี้ตามสัญญานั่นเอง                                                                                                                                                                                                 

                ดังนั้น  การผิดนัดกับผิดสัญญามีความหมายไม่เหมือนกันเสียทีเดียว โดยเหตุนี้จึงมีการใช้คำ 2 คำแยกจากกัน ผิดนัดและผิดสัญญา มีความหมายเหมือนกันตรงที่ว่า หมายถึงการไม่ชำระหนี้ และจะเป็นหนี้เงินหรือหนี้อื่นๆ ก็ได้ ผิดนัดกับผิดสัญญาแตกต่างกัน เพราะการผิดสัญญาบางกรณีเป็นการผิดนัดไปด้วยในขณะเดียวกัน แต่การผิดสัญญาบางกรณียังไม่ถือว่าผิดนัด การผิดนัดในทุกกรณีเป็นการผิดสัญญา แต่การผิดสัญญาบางกรณีเท่านั้นที่เป็นการผิดนัด นอกจากนี้ผลของการผิดสัญญากับผลของการผิดนัดแตกต่างกัน การผิดนัดมีผลหนักกว่าการผิดสัญญา การผิดนัดย่อมหมายถึงการผิดสัญญาเสมอ แต่การผิดสัญญาอาจไม่หมายถึงการผิดนัดก็ตาม

เครดิต : ศาสตราจารย์ ดร.กําชัย จงจักรพันธ์

             วารสารรามคำแหง ฉบับนิติศาสตร์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 2